การเลี้ยงไก่ไข่
การเลี้ยงไก่ไข่ถือว่าเป็นอาชีพที่มีผู้สนใจมากในปัจจุบัน
เนื่องจากไก่ไข่เลี้ยงไม่ยากต้องการพื้นที่เลี้ยงน้อย มีความสะดวกทั้งทางด้านการจัดหาลูกไก่ อาหาร อุปกรณ์การให้อาหารและน้ำ วัคซีนและยารักษาโรค
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่จากพันธุ์แท้เป็นไก่ผสมที่ให้ผลผลิตสุงกว่าพันธุ์แท้
จึงทำให้การเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีความคล่องตัวสูง
ทำให้อุตสาหกรรมไก่ไข่เจริญก้าวหน้า
สามารถผลิตไข่เพื่อการบริโภคภายในประเทศและจำหน่ายต่างประเทศในปีหนึ่งๆเป็นมูลค่าหลายล้านบาท
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
1.เพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงไก่ไข่และการจำกัดอาหารในแต่ละช่วงอายุ
2.เพื่อให้ทราบถึงการให้ผลผลิตขอองไข่ไก่
และคุณภาพของไข่ไก่ในแต่ละช่วงของการให้ไข่
3.เพื่อให้ทราบวิธีการคิดต้นทุนการผลิตต่อการผลิตไข่ไก่
1 ฟอง
วิธีเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่
1. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกไก่อายุ
1 วัน
เป็นวิธีที่นิยมกันมากเนื่องจากทุนน้อย สามารถเลี้ยงไก่ได้ตลอดเวลาด้วยตัวเอง
ดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ได้รู้ประวัติของไก่ทั้งฝูง
แต่การเลี้ยงแบบนี้ต้องใช้เวลานานกว่าไก่จะให้ไข่ เพราะต้องเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด และต้องเสี่ยงต่อการตายของไก่ในระยะแรกๆ
ต้องรออย่างน้อยถึง 22
สัปดาห์ ไก่จึงจะเริ่มให้ไข่
2. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่รุ่นอายุ
2 เดือน
เป็นวิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยการซื้อไก่รุ่นอายุ 6
สัปดาห์ - 2
เดือน มาจากฟาร์มหรือบริษัทที่รับเลี้ยงลูกไก่ ลูกไก่ในระยะนี้ราคายังไม่แพงมากนัก
และสามารถตัดปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดูลูกไก่และการกกลูกไก่ การเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2
เดือนนี้ มักจะให้อาหารที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ราคาถูก การเลี้ยงไม่ต้องใช้ความชำนาญมากนัก
ผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรก จึงสมควรเริ่มเลี้ยงด้วยวิธีนี้
3. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่สาว
เป็นวิธีที่ผู้เลี้ยงไก่เป็นอาชีพหรือเพื่อการค้านิยมกันมาก
เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูไก่เล็กหรือไก่รุ่น
นอกจากนี้โรงเรือนก็สร้างไว้เฉพาะกับไก่ไข่เท่านั้น
แต่การเลี้ยงไก่วิธีนี้ต้องลงทุนสูง ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักฟาร์มที่ผลิตไก่สาวเป็นอย่างดี
ต้องสอบถามถึงประวัติของฝูงไก่สาวที่นำมาเลี้ยงเสมอ
เพราะช่วงที่ไก่ยังเป็นลูกไก่และไก่รุ่นผู้เลี้ยงไม่สามารถรู้ประวัติของฝูงไก่สาวที่จะนำมาเลี้ยงได้
1.การเลี้ยงดูไก่เล็ก
(อายุ 1 วัน-16 สัปดาห์)
เมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์มต้องนำเข้าเครื่องกกโดยเร็วที่สุด
เตรียมน้ำสะอาดให้กินทันที ควรผสมยาปฏิชีวนะหรือวิตามินให้กินติดต่อกัน 2-3 วันแรก
ถ้าลูกไก่มีลักษณะนอนฟุบ อ่อนเพลียมาก
ควรผสมน้ำตาลทรายลงในน้ำผสมยาปฏิชีวนะในอัตรา 5-10%ระยะ 12 ชั่วโมงแรก
เมื่อลูกไก่เข้าเครื่องกก
2-3ชั่วโมง หรือลูกไก่เริ่มกินน้ำได้แล้ว ให้อาหารไก่ไข่เล็ก โปรตีน 19 % ให้น้อยๆ
แต่บ่อยครั้งอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง
ให้แสงสว่างในโรงเรือน 1-3 วันแรกเท่านั้น เพื่อให้ไก่คุ้นเคยกับสถานที่
ควรเปิดไฟสลัวๆ ภายในเครื่องกกต้องมีแสงไฟอยู่ตลอดเวลาในระยะ
1-3 สัปดาห์ หมั่นตรวจสุขภาพไก่ อาหารและน้ำ เปลี่ยนวัสดุรองพื้นที่ชื้น อากาศต้องถ่ายเทได้สะดวก
ขยายวงกกให้กว้างตามความเหมาะสมทุกๆ 5-7 วัน ยกเครื่องกกให้สูงขึ้นเล็กน้อย ปรับอุณหภูมิให้ต่ำลงสัปดาห์ละ 5 องศาฟาเรนไฮด์
ทำวัคซีนตามกำหนด ตัดปากเมื่ออายุ 6-9 วัน
เมื่อกกลูกไก่ครบ 21 วัน นำวงล้อมและเครื่องกกออก จัดเตรียมอุปกรณ์ ดังนี้
- ที่ให้อาหาร ใช้แบบถังแขวนในอัตรา 3-4
ใบต่อไก่ 100 ตัว
- ที่ให้น้ำ
ใช้แบบถังแขวน ในอัตราตามขอบราง 1 นิ้วต่อไก่ 1 ตัว ที่ให้อาหารและน้ำ
ต้องปรับให้อยู่ในระดับความสูงเท่ากับหลังไก่เสมอ
เริ่มให้ไก่กินกรวดตั้งแต่อายุ
3 สัปดาห์ขึ้นไป ให้สัปดาห์ละครั้งๆ ละ
ครึ่งกิโลกรัมต่อไก่ 100 ตัว เริ่มชั่งน้ำหนักไก่จำนวน 5% ของฝูงเมื่ออายุ 6
สัปดาห์ จดบันทึกปริมาณอาหาร จำนวนไก่ตาย คัดทิ้ง สิ่งผิดปกติ การปฏิบัติงาน
การใช้ยาและวัคซีนเป็นประจำ
2.การเลี้ยงดูไก่รุ่น (อายุ 7-14
สัปดาห์) การเลี้ยงไก่ในระยะนี้ ควรจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงในอัตราไก่
5-6 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร เมื่ออายุ 7 สัปดาห์
เปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่เล็กเป็นอาหารไก่ไข่รุ่น ให้อาหารในอัตรา 4-5 ถังต่อไก่ 100
ตัว ปรับระดับที่ให้อาหารให้อยู่ระดับหลังไก่เสมอ ทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยใช้ในอัตราตามขอบราง 1 นิ้ว ต่อไก่ 1 ตัว
ดูแลวัสดุรองพื้นอย่าให้แฉะ ชั่งน้ำหนักไก่
จำนวน 5% ของฝูง ทุกสัปดาห์
เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของไก่แต่ละสายพันธุ์
เพื่อลดหรือเพิ่มปริมาณอาหารที่จะให้ จดบันทึกเกี่ยวกับการจัดการอื่นๆด้วย
3.
การเลี้ยงดูไก่สาว
(อายุ 15-20 สัปดาห์) การเลี้ยงดูไก่สาวจะใกล้เคียงกับการเลี้ยงดูไก่รุ่น
ต้องควบคุมปริมาณอาหาร
และน้ำหนักตัวไก่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของไก่ไข่แต่ละสายพันธุ์ ควรจัดการดังนี้
เมื่อไก่อายุ 15 สัปดาห์ เปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่รุ่นเป็นไก่ไข่สาว ไม่ควรให้กินอาหารแบบเต็มที่เพราะไก่มักจะกินเกินความต้องการทำให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
ไก่ให้ไข่เร็วแต่ไม่ทนและสิ้นเปลืองค่าอาหาร
การควบคุมอาหารมี 3 วิธี
1. จำกัดปริมาณอาหารในแต่ละวัน อาหารประกอบด้วยโปรตีน 16-18 % พลังงาน 2,800 แคลอรี่ต่อกิโลกรัม
การให้อาหารแบบนี้ไก่จะไม่เครียด
2. ควรให้ไก่กินอาหารที่มีเยื่อใยสูงประกอบด้วย
โปรตีน 13% มีพลังงาน 1,750-1,975 แคลอรี่ต่อกิโลกรัม
ได้อย่างเต็มที่ไก่จะกินมากกว่าปกติ 50 % ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสูงก็ได้
จึงควรมีการชั่งควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารด้วย
3. การให้อาหารแบบข้ามวัน
แบ่งเป็น 3 แบบคือ
- ให้อาหารแบบวันเว้นวัน , การให้อาหารแบบ 2 วันเว้น 1 วัน ,ให้5 วันเว้น
2 วันใน 1 สัปดาห์
หมั่นตรวจสุขภาพไก่ ทำวัคซีนตามกำหนด
และสุ่มชั่งน้ำหนักไก่จำนวน 5% ของฝูงทุกสัปดาห์ ในกรณีที่เลี้ยงแบบรวมฝูงเมื่อไก่อายุ
17-18 สัปดาห์ ติดตั้งรังไข่ ขนาดช่องล่ะ 8x12 นิ้ว ในอัตรา 1 ช่องต่อไก่ 4 ตัว
กรณีที่เลี้ยงแบบกรงตับ
ให้ย้ายไก่ขึ้นเมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ ควรมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
เพราะไก่กำลังจะเริ่มให้ผลผลิต ในการเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 20 สัปดาห์ อัตราการตายและคัดทิ้งไม่ควรเกิน
10% ก่อนที่จะย้ายไก่ขึ้นกรงตับ
ควรกำจัดเหาไร และถ่ายพยาธิก่อน ไก่เริ่มให้ไข่ประมาณ 3-4 สัปดาห์
4.การเลี้ยงดูไก่ไข่ (อายุ 21-72
สัปดาห์) ไก่ไข่ระยะนี้เป็นช่วงให้ผลผลิต
ถ้าการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องไก่จะเริ่มให้ไข่อายุ 20-21 สัปดาห์ เมื่อไก่เริ่มไข่ ประมาณ
5% ของฝูง ควรเปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่สาวเป็นไก่ไข่
ควรมีโปรตีน 16% อาหารต้องเพียงพอกับความต้องการ
และการให้ผลผลิตของไก่ ไก่ระยะนี้ต้องการแคลเซียมมาก ประมาณ 4.6 กรัม/ตัวซึ่งให้ในอาหารหรือให้แคลเซียม ความต้องการแคลเซียมจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การไข่เป็นสำคัญถ้าเปอร์เซ็นต์การไข่สูงความต้องการแคลเซียมมาก ถ้าเปอร์เซ็นต์การไข่ต่ำต้องการแคลเซียมต่ำเช่นกัน
ไก่ไข่จะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงอายุ 25-30
สัปดาห์ และจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้า ในกรณีเลี้ยงแบบกรงตับต้องจดบันทึกการไข่ทุกวัน หรือถ้าเลี้ยงแบบปล่อยฝูงก็ต้องจดบันทึกจำนวนไข่ทุกวัน
เพื่อคิดเปอร์เซ็นต์การไข่ ควรเก็บไข่อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เพื่อป้องกันการเสียหาย การให้ผลผลิตโดยทั่วไปจะให้ไข่ประมาณ 52 -60 สัปดาห์
การปลดไก่ออก ส่วนใหญ่จะทำเมื่อไก่ให้ผลผลิตไม่คุ้มทุน เช่น ให้ผลผลิตต่ำกว่า 60% ของฝูง
6. การให้ผลผลิตของไข่ไก่ และคุณภาพของไข่ไก่ในแต่ละช่วงของการให้ไข่
หลังจากไก่เริ่มไขแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
เช่น ความถี่ในการให้ผลผลิตไข่ ขนาดไข่
ขนาดตัวไก่ และประสิทธิภาพในการให้ผลผลิต
ในการให้ไข่ของแม่ไก่ในรอบ 1 ปี แบ่งเป็น
3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ไก่ให้ไข่สูงสุด
ความถี่การให้ไข่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากฝูงไก่เริ่มไข่ได้ 5 %จนกระทั่งผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อไก่ไข่ไปได้ประมาณ
2-3 เดือน ในระยะนี้ไก่มีการเจริญเติบโตและขนาดของไข่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามสภาพการจัดการ การไข่ในระยะ นี้สิ้นสุดเมื่อไก่
อายุได้ประมาณ 10 เดือนครึ่ง หรือไข่ได้ประมาณ
5 เดือน
ระยะที่
2 เริ่มตั้งแต่ไก่ไข่ได้ 5
เดือนไปจนถึงไข่ได้ 10 เดือน หรือเมื่อไก่ได้อายุ 15 เดือนครึ่ง เป็นระยะที่ไข่ร่างกาย ขนาดไม่โตอีกแล้ว
และไก่หยุดการเจริญเติบโตแต่อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นบ้างจากการสะสมของไขมันเป็นระยะที่ผลผลิตเริ่มลดลง
ระยะที่
3 เป็นระยะสุดท้ายของการไข่ก่อนที่จะหยุดไข่
ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ไก่ไข่ได้ 10
เดือนจนกระทั่งไก่ผลัดขน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
การให้ผลผลิตลดลงจนกระทั่งไก่หยุดไข่เพื่อผลัดขน แต่ขนาดของไข่ไม่ได้ลดลง หลังจากผลัดขนแล้วแม่ไก่จะเริ่มให้ไข่อีก
การไข่ของแม่ไก่ในรอบปีที่ 2 และปีถัดๆไปจะเหมือนกับการไข่ในปีแรก แต่ผลผลิตไข่สูงสุดนั้นจะต่ำกว่าปีแรก ระยะเวลาในการไข่สั้นกว่ารอบปีแรกประมาณ 20 %ไข่ที่ได้ในรอบปีที่ 2
จะมีขนาดใหญ่กว่าปีแรก แต่เปลือกบางกว่า
บรรณานุกรม
เจริญโภคภัณท์,บริษัท.คู่มือการเลี้ยงไก่ ซีพี
บราวน์.กรุงเทพมหานคร
ชวนิศนดากร วรรณะและคณะ.2528.หลักการเลี้ยงสัตว์ทั่วไป.กรุงเทพมหานคร
ไชยา
อุ้ยสูงเนิน.2532.การเลี้ยงไก่ไข่.พิมพ์ครั้งที่ 4
สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.
ที่ระลึก 60 ปีสมาคมส่งเสริม การเลี้ยงไก่ไข่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.2543.ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทดลอง ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร
มานิตย์
เทวรักษ์พิทักษ์.2536.การจัดการฟาร์มสัตว์ปีก.พิมพ์ครั้งที่ 4.เชียงใหม่
สุพรีมฟีดส์,บริษัท.คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่
ไสว
นามคุณ.2546.การเลี้ยงไก่ไข่.สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี
กรมปศุสัตว์.
กรุงเทพมหานคร
อานนท์
อินทพัฒน์.2542.การเลี้ยงไก่ไข่.อักษรสยามการพิมพ์.กรุงเทพมหานคร
อาร์เบอร์ เอเคอร์ส, บริษัท.253.คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่ เอ เอ
บราวน์.กรุงเทพมหานคร
www.dld.go.th/service/layer/manage.html